แพทย์แนะนำ การใช้ชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานในยุคโซเชียลมีเดีย
category: Health
tag: เบาหวาน โรคเบาหวาน
สมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทยฯสร้างเกราะความรู้ให้ผู้เป็นเบาหวานในยุคโซเชียลมีเดีย เดินหน้าสร้างเครือข่ายชมรมผู้เป็นเบาหวานให้ครอบคลุมทั่วประเทศหวังลดการเกิดโรคเบาหวานในคนไทย
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้เป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายปีพศ. 2557 ในประชากรตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าเป็นเบาหวานร้อยละ 8.9หรือคิดเป็น4.8 ล้านคน นอกจากนี้ การรักษาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบรรลุเป้าหมายเพียงร้อยละ 38.2
ท่ามกลางการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างมากในสภาพสังคมออนไลน์ในปัจจุบันที่สามารถสื่อสารส่งต่อความรู้ได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง จึงนำมาสู่การเสวนาทางวิชาการ “การใช้ชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานในยุคโซเซียลมีเดีย” ของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ประจำปีพ.ศ. 2560 นี้ เพื่อหาคำตอบและแนวทางในการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารและสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้การป้องกันและรักษาโรคเบาหวานในประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย เพื่อลดการเกิดโรคเบาหวานในคนไทย และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน
นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานฯ
นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์และการใช้เทคโนโลยีในการดูแลโรคเบาหวานมีบทบาทมากขึ้นในการรักษาผู้ป่วย โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้ตระหนักถึงผลกระทบในส่วนนี้มาโดยตลอด และล่าสุดสมาคมฯ ได้มุ่งสร้างเกราะความรู้ความเข้าใจต่อผู้สังคมไทยในรูปแบบ “โครงการสัมมนาเครือข่ายชมรมผู้เป็นเบาหวาน” โดยได้จัดร่วมกับโรงพยาบาลในภูมิภาคต่างๆ เพื่อรวมตัวสร้างเป็นเครือข่ายขึ้นระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้เป็นเบาหวาน ซึ่งเป็นการรวมตัวที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลมาก เนื่องด้วยแพทย์จะได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เป็นเบาหวานและครอบครัวอย่างใกล้ชิด ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ทำให้เข้าใจถึงปัญหาและร่วมกันหาทางออกที่ดี นำไปสู่การพัฒนาการดูแลตนเองและการช่วยเหลือระหว่างผู้ป่วยด้วยกันโดยที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้จัดไปแล้ว6 จังหวัด เริ่มจากกรุงเทพฯ อุบลราชธานี สงขลา เชียงใหม่ ระยอง และพิษณุโลกสามารถเข้าถึงผู้นำกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานได้ถึง 400 คน บุคลากรทางการแพทย์ 300 คน จากทั้งหมด 128 โรงพยาบาล และมีแผนดำเนินการขยายสังคมเครือข่ายผู้เป็นเบาหวานให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อให้การรักษาเบาหวานบรรลุเป้าหมายและลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเห็นว่า ควรมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์สร้างเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้ป่วยและประชาชน”
ศ.นพ.ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล แพทย์ มข
ในด้าน ศ.นพ.ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ความเห็นว่า “ยุคโซเซียลทำให้พฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนไป ชอบค้นหาข้อมูลจากสื่อออนไลน์ด้วยตนเองยกตัวอย่างเช่นเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา อาจารย์ได้เปิดเฟซบุ๊ค ชื่อ Endocrinology by Prof.ChatlertPongchaiyakulเป็นเพจทางวิชาการเริ่มแรกตั้งใจจะให้ความรู้ทางวิชาการทางด้านระบบต่อมไร้ท่อและเบาหวานแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก แต่หลังจากเปิดเพจไประยะหนึ่งพบว่ามีผู้ติดตามเพจจำนวนมากที่เป็นประชาชนทั่วไปทำให้ต้องนำเสนอข้อมูลในวงกว้างสำหรับผู้อ่านทั่วไปให้มีความรู้เกี่ยวกับโรคทางต่อมไร้ท่อและโรคเบาหวานไปด้วยปัจจุบันเพจนี้มีผู้ติดตามประมาณเกือบสี่หมื่นคน นอกจากเฟซบุ๊คแล้วอาจารย์ยังได้ทำการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยในการรักษาโดยผ่านโปรแกรม LINE โดยส่งข้อมูลเรื่องการควบคุมอาหารการออกกำลังกาย การปรับยาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมได้ดีขึ้นอีกด้วย”
ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ นักวิจัย NECTEC
สำหรับ ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์นักวิจัยและหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยติดตามสุขภาพและรูปแบบการดำเนินชีวิต ศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)ได้บรรยายเรื่องการใช้งานของแอปพลิเคชันได้แสดงให้เห็นผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีขึ้นในประชากรผู้ใหญ่ที่เป็นเบาหวานส่วนใหญ่การออกแบบแอปพลิเคชันสำหรับโรคเบาหวานจะมี3 หมวดหลักๆที่สำคัญ คือ บันทึกประวัติ (diary fordiabetes tracker) ข้อมูลทางโภชนาการ (nutrition) และการดูแลสุขภาพ (wellness and health management)
ในประเทศไทยมีแอปพลิเคชั่นเช่น “FoodiEat” ถูกออกแบบให้ใช้งานเพื่อช่วยแนะนำการดูแลสุขภาพผู้ใช้งานสามารถบันทึกพฤติกรรมการรับประทานอาหาร คำนวณค่าพลังงานที่เผาผลาญจากการออกกำลังกายส่วนแอปพลิเคชั่นอื่นๆที่กำลังพัฒนาได้แก่ แอปพลิเคชั่นจะเป็นผู้ช่วยบันทึกข้อมูลสุขภาพ ให้คำแนะนำผู้ป่วย รวมถึงแจ้งเตือนผู้ป่วยและญาติหากพบภาวะเสี่ยงเช่น เมื่อผู้ป่วยลืมฉีดยา หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกตินอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชั่นวางแผนการรับประทานอาหาร สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งจะช่วยในการประมวลผลสัดส่วนรายการอาหารที่เหมาะสมกับค่าน้ำตาลของผู้ป่วยในรับประทานอาหารแต่ละมื้ออีกด้วย
ผศ. สมิทธิ์ บุญชุติมา คณะนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมิทธิ์ บุญชุติมา ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้คำแนะนำว่า “เพื่อให้การสื่อสารด้วยสื่อสังคมออนไลน์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีคนสนใจ นักสื่อสารจำเป็นต้องมีความรู้และทักษะ 4 ด้านคือ ความรู้ในเรื่องความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เทคนิคการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การผลิตภาพกราฟฟิกและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด สื่อมีทั้งจริงและเท็จปะปนกันดังนั้น ประชาชนและผู้ให้บริการทางสาธารณสุขควรใช้วิจารณญาณวิเคราะห์ก่อนจะเชื่อในสื่อใดควรพิจารณาจากที่มาของข่าวสาร ผู้ให้ข่าวสารและสถาบันที่น่าเชื่อถือเช่นข้อมูลมาจากสมาคมวิชาการหรือสถาบันทางการแพทย์ เป็นต้น”
สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเบาหวานได้ที่เว็บไซต์สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ www.DMThai.org หรือ Facebook: สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ
|